EP : 3 สุดปัง : ฟังภาษาเพลงร่วมสมัย ด้วยหูฟัง Gen Z
“สุดปัง ปัง ปังปะรังปังปี้” เป็นเนื้อเพลงท่อนหนึ่งของเพลง “สุดปัง (Sudpang)” เพลงที่สองของแร็ปเปอร์สุดแซ่บ มิลลิ ดนุภา คณาธีรกุล ศิลปินค่าย YUPP! Entertainment เพลงสุดปังเผยแพร่ครั้งแรกทางช่องยูทูปเมื่อวันที่ 14 ส.ค. 63 โดย ณ วันที่ 23 เม.ย. 64 มียอดผู้ชมจำนวน 38,355,726 ครั้ง โดยเนื้อเพลงเล่าเรื่องราวของหญิงสาวที่มีความฝันแต่ไม่กล้าฝัน ฝันว่าฉันอยากเป็นดาวเด่น และฉันจะต้อง “สุดปัง”
หากตีความให้ลึกลงไปแล้วจะพบว่าเนื้อหาต้องการจะพูดเกี่ยวกับ ความสวย ความมั่นใจที่เเตกต่างกันของผู้หญิง ผ่านภาษาเเละการขับร้องในรูปเเบบที่เเตกต่างกัน เพื่อสื่อให้เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงสไตล์ไหน เชื้อชาติใดก็มีความสวยเป็นของตัวเองหากมีความมั่นใจ
สุดปัง (คำวิเศษณ์สแลง) เป็นคำที่ใช้กับอะไรก็ตามที่เรารู้สึกว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีมากจริง ๆ หรือสิ่งนั้นทำให้เรากลายเป็นดาวเด่น เหมือนเสียงดังปั้งจากอะไรก็ตามที่ทำให้ทุกคนต้องรู้สึกแปลกใจ ประหลาดใจ และอึ้งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (บรรณวิชญ์ สมบุญ, 2563 : ออนไลน์)
เนื้อเพลง แร็ป และดนตรีของเพลงสุดปัง ความปังในเพลงนี้ไม่ได้มีแค่ความสนุกจากการฟังเพลง แต่เพลงนี้มีการใช้ภาษาที่น่าสนใจ และค่อนข้างโดดเด่น ดังนี้
- “ภาษาถิ่น” ได้แก่ ภาษาเหนือ อีสาน ใต้ และกลาง ที่ปรากฏในเนื้อเพลงโดยนำมาใช้ผสมผสานกันในท่อนแร็ปที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ทำให้เกิดความร่วมสมัยในปัจจุบันกับคนรุ่นใหม่ และยังเป็นการนำเสนอเอกลักษณ์วัฒนธรรมด้านภาษาในสไตล์สากล ดังตัวอย่าง
– ภาษาเหนือ “อีน้องนิงามแต้งานว่างามไบ้ งามง่าวงามปะล้ำปะเหลือ งามหาป้อหาแม่เจ้า น้องกิ๋นข้าวกะอะหยั๋ง หยั๋งมางามอี้หน่ะงามพิลิ งามขนาดบ่าสามารถอิแอะ”
– ภาษาอีสาน “กระจก กระจกบอกข่อยแหน่ ไผงามสุดในแดนนี้ เบิ่งหน้าเบิ่งตา กะไคแหน่ อยู่เด้มั่นใจอิหล่า follow your way” ซึ่งตอนท้ายมีการแทรกภาษาอังกฤษ
– การใช้สำเนียงและภาษาใต้ “สวยสั่นสะท้านของกูแรง สาวไม่มั่นใจไหนคือสวยนิ”
- “ภาษาวัยรุ่น” หรือคำสแลงมาใช้ในเพลง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เพลงมีความน่าสนใจ และส่งผลต่อการนำไปใช้ในวงกว้างของกลุ่มวัยรุ่น เช่น สุดปัง ปัง ปังปะรังปังปี้
- “ภาษาลู” ที่มักนิยมใช้ในกลุ่ม LGBTQ มาสร้างสรรค์ในเนื้อเพลง ซึ่งคนทั่วไปพอได้ยิน อาจจะงงและสับสนอยู่บ้างเพราะไม่เข้าใจความหมายและพูดไม่เป็น ซึ่งเทคนิคนี้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของมิลลิในการนำภาษาลูที่มีคำผวนและศัพท์แสลงมาใช้ผสมในท่อนแร็ป เช่น “สวยแบบ ตุยเย วาตานาเบ้ ไอโกะ ลวยสุย ล่องพุ่ง ลายตุย อาริกาโตะ จากใจจึ้งจริงไม่จกตา ด่าหนูดูหน้าดนุภา”
- “ภาษาต่างประเทศ” ได้แก่ ภาษาอังกฤษ และภาษาญี่ปุ่นเข้ามาผสมผสานภายในบทเพลงตามสไตล์การร้องแร็ป เช่น ภาษาอังกฤษ Pretty girls are my bestie, Beauty on me, Beauty on me
Beauty on my face it priceless and it’s not free และภาษาญี่ปุ่น เช่น วาตานาเบ้ ไอโกะ หรืออาริกาโตะ
ตลอดทั้งเพลงสุดปัง ผู้ฟังจะได้ยินภาษาไทยและภาษาต่างประเทศผสมผสานกันได้อย่างลงตัว ด้วยคำที่สามารถเข้าใจความหมายได้เป็นส่วนใหญ่และบางคำก็อาจฟังไม่เข้าใจความหมาย อาทิ คำว่า “ลวยสุย แปลว่า สวย” ผู้ฟังจะได้รับรู้ถึงการ ”วิวัฒน์ของภาษา” หรือการเปลี่ยนแปลงของภาษาจาก “คำใหม่” เพราะในสังคมปัจจุบันเราเปลี่ยนแปลงภาษากันอยู่ตลอดเวลาพัฒนาไปตามยุคสมัย
ผู้แต่งตั้งใจไม่ใช้ภาษาเดียวตายตัวทั้งเพลง การแต่งเพลงนำเอาภาษาหลาย ๆ อย่างมาปนกันในหนึ่งวรรค สร้างความคล้องจอง สัมผัสกันและเรื่องราวในบทเพลงก็ดำเนินไปได้ดี ผู้แต่งเพลงนำเสนอเรื่องความหลากหลายของภาษาในสังคม ภาษาที่กลุ่มคนกำลังนิยมอยู่ บรรจุคำลงไปได้เยอะ และถ่ายทอดออกมาให้ทุกคำเด่นและมีบทบาทในเพลง ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกและอารมณ์ร่วมกับเพลง ไม่ใช่คำหยาบคายทำให้เพลงมีคุณค่าและมีสเน่ห์ การเลือกคำ การคัดสรรคำ สามารถสื่อสารแล้วผู้ฟังกลุ่มวัยรุ่นเข้าใจ ผู้แต่งเข้าใจคนหลายกลุ่ม โดยสื่อสารผ่านการใช้ภาษาที่หลากหลายและสำเนียงแบบเหน่อ เป็นการสร้างความแปลกใหม่ด้วยภาษาถิ่นผสานการร้องแร็ปได้อย่างน่าสนใจ
เฟอร์ดินองด์ เดอ โซซูร์เคยกล่าวว่า “ภาษา” มีความลื่นไหลและดิ้นได้ตามช่วงเวลา ภาษาเพลงก็เช่นกัน ในปัจจุบันการสร้างสรรค์เนื้อหาผ่านภาษาเพลงใหม่ ๆ เกิดขึ้นตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมอยู่เสมอ ดังนั้น ผู้ผลิตเพลงจึงควรหมั่นติดตามความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพราะการสร้างสรรค์บทเพลงใหม่ ๆ อาจส่งผลต่อความสำเร็จทั้งด้านรายได้และเสียงชื่นชมที่ตามมา