บล็อกพิพิธภัณฑ์

EP : 11 หุ่นกระบอกจีนในสังคมไทย

  รศ.แสงอรุณ  กนกพงศ์ชัย ศึกษาเรื่องหุ่นกระบอกจีนในสังคมไทยพบว่า สังคมไทยแต่ก่อนตั้งแต่อยุธยา จนมาถึงรัตนโกสินทร์จะมีหุ่นชวา หุ่นพม่า หุ่นลาว หุ่นทวาย หุ่นมอญ หุ่นจีน เฉพาะหุ่นจีนนี้ชักสายข้างบน ตากลอกไปมาได้ และระบุลงไปชัดเจนว่า เป็นของพวก “จีนจะจิว” หรือ แต้จิ๋ว ดังปรากฏในสมุดไทยขาวว่า “พวกจีนจะจิว ชักหุ่นเล่นงิ้ว บิดพลิ้วไปมา เหลือกตายักคิ้ว เล่นงิ้วภาษา” (อ้างจาก จักรพันธุ์, 2529 : 15)

หุ่นจีนนั้นมิใช่มีจำเพาะหุ่นจีนแต้จิ๋วเท่านั้น ยังมีหุ่นจีนฮกเกี้ยนด้วย และเป็นที่นิยมในหมู่เจ้านายชั้นสูง เช่น กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ (วังหน้าสมัยรัชกาลที่ 5) ซึ่งโปรดมาก ถึงกับให้ตั้งคณะหุ่นจีนเป็นของพระองค์เองโดยทำแบบ “หุ่นจีนฮกเกี้ยน” ใช้มือของผู้เชิดสอดเข้าไปในเสื้อหุ่น และใช้นิ้วของผู้เชิดสอดเข้าไปบังคับคอหุ่น และมือหุ่นทั้งสองข้าง (จักรพันธุ์, 2529 : 70) ปัจจุบันตัวหุ่นเหล่านี้ ยังพอมีให้ชมในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ   พระนคร คนรุ่นเราควรหาโอกาสเข้าไปดูทำความรู้จักไว้ เพราะปู่ย่าตายายของเราชอบดูหุ่นจีนกันมาก ถึงแก่มีหลักฐานว่า ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการเก็บภาษีแสดงหุ่นจีนเท่ากับหุ่นไทยทีเดียว คือเก็บวันละ 1 บาท (จักรพันธุ์, 2529 : 66) ซึ่งนับว่าราคาสูงมากในยุคสมัยนั้น

นอกจากนี้ยังมีหุ่นจีนไหหลำอีกประเภทหนึ่งที่เกิดทางเมืองเหนือของไทย และคลี่คลายเป็นหุ่นกระบอกไทยในสมัยต่อมา  หากจะเทียบง่าย ๆ หุ่นจีนฮกเกี้ยนซึ่งเป็นต้นเค้าของหุ่นกรมพระราชวังบวรฯ เป็นวัฒนธรรมในราชสำนักก็อาจกล่าวได้ว่า หุ่นจีนไหหลำจากเมืองเหนือ ซึ่งเป็นต้นเค้าของหุ่นกระบอกไทยนั้น ก็เป็นวัฒนธรรมชาวบ้าน หากพิจารณาจากภาพประกอบ ก็จะเห็นความต่างในเรื่องความประณีตและเรียบง่ายได้ชัดเจนขึ้น

อ้างอิง สารคดี ฉบับที่ 197 เดือน กรกฎาคม 2544 https://www.sarakadee.com/feature/2001/07/hainanese_puppet.htm

Copyright © 2017. All rights reserved.